2 มีนาคม 2562 : ปัจฉิมนิเทศนิสิตหลักสูตร ป.บัณฑิตวิชาชีพครู รุ่นที่ 4 ปีการศึกษา 2561

วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๒ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดปัจฉิมนิเทศนิสิตหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู รุ่นที่ ๔ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ ห้องประชุมเธียเตอร์ โซนดี (ZoneD) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เวลา ๐๙.๓๐ น. พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประธานที่นำบูชาพระรัตนตรัย กล่าวเปิดโครงการและบรรยายพิเศษ เรื่อง “การพัฒนาครูตามแนวพระพุทธศาสนาในยุคดิจิทัล ทั้งนี้โดยมี…พระมหาบุญสุข สุทฺธิญาโณ รองคณบดีคณะครุศาสตร์ ฝ่ายวิชาการ ถวายรายงาน ความเป็นมา ผลการดำเนินการของหลักสูตร และวัตถุประสงค์โครงการและกิจกรรมโครงการ

ทั้งนี้ผู้บริหาร คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะครุศาสตร์ มี พระราชสุตาภรณ์,รศ.ดร. คณบดีคณะครุศาสตร์, พระมหาบุญสุข สุทฺธิญาโณ รองคณบดีคณะครุศาสตร์ ฝ่ายวิชาการ,รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ บุญปู่ รองคณบดีคณะครุศาสตร์ ฝ่ายบริหาร, พระครูปลัดมารุต วรมงฺคโล,ผศ.ดร. อาจารย์คณะครุศาสตร์/อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์/อดีตรองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่, รองศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย พิทักษ์ธนาคม อาจารย์คณะครุศาสตร์/ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ, รองศาสตราจารย์ ดร.สมชัย ศรีนอก อาจารย์คณะครุศาสตร์/ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา, รองศาสตราจารย์ ดร.อินถา ศิริวรรณ, รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพงษ์ ศรีวิชัย, ดร.เกษม แสงนนท์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาพุทธบริหารการศึกษา, อาจารย์กิตติศักดิ์ ณ สงขลา อาจารย์ประจำหลักสูตร/ผู้อำนวยการหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู พระภูวณัฐสร์ มุนิจโร,ดร. อาจารย์ประจำหลักสูตร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วงศพัทธ์ ชาติเสถียรวงศ์ อาจารย์ประจำหลักสูตร, และรองศาสตราจารย์ ดร.ลลิตา ฤกษ์สำราญ, รองศาสตราจารย์ มัณฑรา ธรรมบุศย์ ผู้ทรงคุณวุฒิประจำหลักสูตร เข้าร่วมกิจกรรม

 

 

 

 

 

 


บรรยายพิเศษ เรื่อง “การพัฒนาครูตามแนวพระพุทธศาสนาใน
ยุคดิจิทัล“ โดย…พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร.

เวลา ๐๙.๓๐ น. พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานพิธีเปิดโครงการปิจฉิมนิเทศนิสิตหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู รุ่นที่ ๔ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ และนิสิต ป.บัณฑิต รุ่นที่ ๔ และ ๕ เข้าร่วมโครงการและฟังการบรรยายพิเศษ รวมประมาณ ๓๕๐ รูป/คน ณ ห้องประชุมเธียร์เตอร์โซนดี อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้โอวาทและบรรยายพิเศษเรื่อง “การพัฒนาครูตามแนวพระพุทธศาสนาในยุคดิจิทัล

ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้ ยุคติจิทัล ทุกคนก็ต้องปรับตัว ก้าวทันเทคโนโลยี รู้เท่าทัน ใช้ให้เป็น ทำประโยชน์ได้ ถึงแม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าเพียง ก็ไม่สามารถสร้างคนให้เป็นคนทีสมบูรณ์ human being เพราะขาดจิตวิญญาณ เช่น หุ่นยนต์ทำงาน หุ่นยนต์อ่านข่าว หุ่นยนต์ทำอาหาร หุ่นยนต์สอนหนังสือ สื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ดีเพียงใด ก็ยังแทนคนสอนคนไม่ได้ ดังนั้น ครูก็ยังเป็นครู แต่ก็ต้องปรับตัวให้ทันยุคสมัย แต่ไม่ขาดหลักการ

  ครูวิถีพุทธในยุคดิจิทัล ควรมีทักษะ ๓ ด้าน คือ ๑) Academic Leadership ๒) Administrative Literacy และ ๓) Life Skill (Adept Life)

  Academic Leadership มีความเป็นผู้นำในด้านวิชาการ ซึ่งมีความหมายมากกว่าคำว่า รู้ และเชี่ยวชาญ ธรรมดา คือต้องแสดงออกได้ เป็นตัวอย่างได้ นำพานักเรียนได้ ผู้นำต้องมีคุณสมบัติ ๒ อย่างเพิ่มมาอีก คือ ๑) มีบารมี บารมีต้องทำบ่อยๆ ทำนานๆ ต่อเนื่องๆ ทำอย่างเข้มข้น และทำอย่างมีศรัทธาว่าทำแล้วจะต้องเกิดผลดี ๒) มีทักษะในการสื่อสาร พูด สอน บรรยาย สื่อสารเก่ง ในทางพระพุทธศาสนาน่าจะสอดคล้องกับหลักกัลยาณมิตรธรรม อันเป็นคุณสมบัติครูอาจารย์ ที่ลูกศิษย์คบหาแล้วจะมีแต่ดีงามและความเจริญ ๗ อย่าง คือ ปิโย น่ารัก, ครุ น่าเคารพ, ภาวนีโย น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่องในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง, วตฺตา จ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี, วจนกฺขโม อดทนต่อถ้อยคำ ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว, คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา อธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจ, โน จฏฺฐาเน นิโยชเย ไม่ชักนำ ไม่แนะนำไปในทางเสื่อมเสีย

  Administrative Literacy มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการ ก็คือสามารถบริหารตนได้ บริหารคนได้ บริหารงานเป็นนั่นเอง การบริหารตนมีจุดเน้น ๓ อย่าง คือ ๑) Emotional Intelligence มีความฉลาดทางอารมณ์ ปรับอารมณ์ตามสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส สีหน้ารับแขก นักเรียนเข้าใกล้แล้วมีความสุข ๒) Anger Management การจัดการความโกรธ ไม่เจ้าอารมณ์ ไม่เบรกแตก ระงับอารมณ์ได้ จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ถึงระดับ ดร. หรือศาสตราจารย์ ถ้าเก็บระงับความโกรธอารมณ์ไม่ได้ก็เสียคน เป็นครูถ้าระงับอารมณ์โมโหกับเด็กไม่ได้ก็เสียครู ต้องเรียนรู้วิธีระงับความโกรธ ๑๐ อย่างในทางพุทธศาสนา ๓) Pro-active Person เป็นคนที่มีความกระตือรือร้น มุ่งมั่น และพอใจในงานที่เป็นด้านที่ดี ทางธรรมเรียกว่ามี กุศลฉันทะ พอใจ มุ่งมั่นทำในสิ่งที่เป็นกุศล

  Life Skill มีทักษะในการดำเนินชีวิต คือรู้หลักการดำเนินชีวิต ว่าจะเป็นอย่างไร ควรเป็นอย่างไร และควรทำอย่างไร มีความเชื่อมั่นในตนเอง แต่ก็เข้าใจธรรมชาติของชีวิต ชีวิตก็ย่อมจะมีอุปสรรค หรือเรียกว่า มาร ๕ อย่าง แต่ต้องเข้าใจและมั่นคงในบุญกุศล ความดี จะสอดคล้องกับหลัก ๓ ไตร ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้แก่ ๑) ไตรรัตน์ ยึดมั่นศรัทธาในพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นผู้ชี้แนวทางดำเนินชีวิต ๒) ไตรลักษณ์ คือเข้าใจรูปนาม ขันธ์ ๕ ว่ามีลักษณะ ๓ อย่าง คือ อนิจจัง ทุกข์ อนัตตา ที่ต้องประสบพบเจอ ๓) ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ให้ดำรงตนอยู่ในศีล ระเบียบวินัย, จิตใจก็ให้มีสมาธิ สวดมนต์ อิ สวา สุ เป็นต้น, มีปัญญาความรู้ในทางโลกเพื่อการประกอบอาชีพและทางธรรมะเพื่อชีวิตที่ความสุข มีความรู้ความสามารถก็ต้องมีสติ และปฏิภาณประกอบด้วยในการดำเนินชีวิต ดังคำว่า “ยามเข้าป่าเสกคาถากันช้างไล่ ปีนต้นไม้อีกด้วยช่วยคาถา” ช้างมาคิดว่าแต่คาถาดี ไม่ยอมวิ่งหนีไปปีนต้นไม้ ช้างอาจเหยียบตายได้

 

หลังการบรรยายพิเศษ พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และผู้บริหาร คณาจารย์ ได้ร่วมถ่ายรูปหมู่กับนิสิตหลักสูตร ป.บัณฑิตวิชาชีพครู รุ่นที่ ๔ และ รุ่นที่ ๕

เวลา ๑๓.๐๐ น. มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “ทักษะและประสบการณ์ ในการเรียนหลักสูตร ป.บัณฑิตและการสอบครูผู้ช่วย”   โดย…ศิษย์ปัจจุบัน นิสิตหลักสูตร ป.บัณฑิต ดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดย…รศ.ดร.สมชัย ศรีนอก

เวลา ๑๔.๐๐ น. กิจกรรมสานสายใยน้องส่งพี่ ระหว่างนิสิตรุ่นที่ ๔ และนิสิตรุ่นที่ ๕ ซึ่งนิสิตรุ่นที่ ๕ จัดการแสดงเพื่อสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ชุดที่ ๑ การแสดงกลองยาวประยุกต์ ชุดที่ ๒ การแสดงร้องเพลงลูกทุ่งอีสาน ชุดที่ ๓ สานสัมพันธ์สานสายใยน้องส่งพี่

เวลา ๑๔.๓๐ น. ผู้บริหาร คณาจารย์ อาจารย์ประจำหลักสูตร และอาจารย์ผู้บรรยาย มี…พระราชสุตาภรณ์,รศ.ดร. คณบดีคณะครุศาสตร์, พระมหาบุญสุข สุทฺธิญาโณ รองคณบดีคณะครุศาสตร์ ฝ่ายวิชาการ, พระครูปลัดมารุต วรมงฺคโล,ผศ.ดร., พระณรงค์ ฐานวุฑฺโฒ,ดร., ผศ.วงศพัทธ์ ชาติเสถียรวงศ์, รศ.มัณฑรา ธรรมบุศย์, รศ.ดร.สมชัย ศรีนอก, ดร.พิธพิบูลย์ กาญจนพิพิธ และอาจารย์กิตติศักดิ์ ณ สงขลา ให้ข้อคิดและอวยพรนิสิตรุ่นที่ ๔ ให้เป็นคนดี เป็นครูดี รักวิชาชีพครู นำหลักธรรมและความรู้ที่คณาจารย์ได้แนะนำไปใช้ในการปฏิบัติวิชาชีพและในการดำเนินชีวิต และให้นิสิตทุกรูป/ทุกคนประสบความสำเร็จ พระนิสิตก็ขอให้เจริญในธรรม นิสิตคฤหัสถ์ขอให้สอบบรรจุครูได้ทุกคน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here